“ความเครียดของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ”
(อ.ปั้น – สถาบันปั้นคน – www.punkhon.comwww.punkhon.com)
.
ความเครียดของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้ ตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่ความเครียดของพ่อแม่ ที่มีกับลูกของตนเองโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเองเป็นหลัก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ยิ่งต้องรับบทหนักในการเลี้ยงดูลูกเป็นพิเศษ เพราะเด็กกลุ่มนี้ อารมณ์แปรปรวนง่าย ขึ้นลงไม่เป็นระบบเหมือนเด็กปกติ ลักษณะการแสดงออกก็ต่างออกไป ผู้ปกครองจึงต้องคอยปรับอารมณ์ตามเด็ก จนบางครั้งปรับไม่ทัน จึงเกิดความหงุดหงิด ไหนจะเหนื่อยจากการทำงานยังต้องมาคอยปรับอารมณ์ตามลูกอีก
และถ้าเป็นกรณีที่ผู้ปกครองที่อยู่กับเด็กตลอดเวลา ความเครียดยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อความเครียดเพิ่มขึ้น อารมณ์ก็แปรปรวนตามเด็กไปด้วย และไม่สามารถควบคุมลูกได้ตามที่ต้องการ จนบางครั้งผู้ปกครองก็เผลอใช้ความ รุนแรงกับเด็ก เช่น การทุบตี การด่าด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ พฤติกรรมที่พ่อแม่ผู้ปกครองแสดงออกมา รวมถึงการกระทำ จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรงตามไปด้วย เช่นกัน อาจจะรุนแรงถึงขั้นเด็กทำร้ายพ่อแม่กลับ
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ไม่ควรอยู่กับลูกทั้งวันจนเกิดความเครียดสูง โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรที่จะหากิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกทำแทน เพื่อลดเวลาอยู่กับลูกให้น้อยลง โดยพ่อแม่ต้องสังเกตว่าเราอยู่กับลูกได้นานประมาณไหนที่ไม่เครียดจนเกินไป เช่น 2-3 ชม ครึ่งวัน 5-6 ชม เป็นต้น หลังจากนั้นก็อาจให้ลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆแทน ที่มีคนดูแลลูก อาจจะเป็นเรียนพิเศษ เรียนศิลปะ เล่นกีฬา ไปทำกิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ เด็กควรต้องชอบ ไม่เบื่อ สนุก และต้องไม่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็ก เหม่อลอย เล่นกับตัวเอง กระตุ้นตัวเอง กิจกรรมต้องทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ในสมองด้วยเท่านั้น
กระบวนการเหล่านี้ อาจจะไม่ดี100เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถแก้ปัญหา ในส่วนความเครียดของ พ่อแม่ผู้ปกครอง ได้ไม่มากก็น้อย และยังช่วยลดปัญหา ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ได้ส่วนหนึ่งด้วย เพราะเมื่อพ่อแม่เครียด ก็จะเริ่มหงุดหงิด มีอารมณ์รุนแรงกับลูก และลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้มา แล้วอาจตอบโต้พ่อแม่ด้วยความรุนแรง หรือ มีนิสัยอารมณ์พฤติกรรมรุนแรงกับคนรอบข้าง
บทความของผม ไม่อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกรูปแบบ แต่อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเด็ก-ผู้ใหญ่ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกว่าเขาเหล่านั้นจะร่ำรวย หรือ ยากจนเพียงใดก็ตาม
” หมอรักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยก็รักษาหมอเช่นกันนั้นคือ ผู้ป่วยก็รักษาความโลภในใจหมอ “